วันนี้ในปี 1980 อัลบั้ม The Wall ขึ้นอันดับ 1 บนอัลบั้มชาร์ตในอเมริกาโดยครองอันดับ 1 นานถึง 15 สัปดาห์ เป็นอัลบั้มอันดับ 1 ชุดที่ 3 ของวง Pink Floyd เฉพาะในอเมริกาขายได้มากกว่า 23 ล้านชุด กลายเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ขายดีที่สุดตลอดกาล
วันนี้จึงถือโอกาสคุยถึงเบื้องหลังที่มาของผลงานชิ้นโบว์แดงชุดนี้ ซึ่งต่อมากลับกลายเป็นว่าทำให้เส้นทางการเดินทางของพวกเขามาถึงทางตัน และทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็น Pink Floyd ฉบับดั้งเดิมจนยากจะกลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป
เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น ไม่อยากให้พลาดเพราะจะคุยตั้งแต่ปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นก่อนทำอัลบั้มชุดนี้ จนถึงปัญหาหนี้สินที่เกิดจากการออกทัวร์คอนเสิร์ตที่ประทับใจแฟนเพลงทั่วโลก..ถ้าพร้อม..ไปต่อกันเลยครับ
จุดเริ่มต้น
โปรเจ็คนี้เริ่มจาก Roger Waters นำเสนอไอเดียคอนเซ็ปอัลบั้มให้กับเพื่อนๆวง Pink Floyd ช่วงที่นัดรวมตัวกันที่ Britannia Row Studio ในเดือนกรกฏาคม ปี 1978 โดยเขานำเสนอไอเดีย 2 ทางเลือกให้กับวง
"Brick in the Wall" เป็นไอเดียแรกที่มาพร้อมกับเดโมความยาว 90 นาที ส่วนอีกหนึ่งไอเดียเป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่ฝันถึงเรื่องราวชีวิตคู่ รักเดียวใจเดียวและความสำส่อนในค่ำคืนเดียวกัน
เพื่อนๆในวงเลือกไอเดียแรก "Brick in the Wall" ซึ่งเป็นที่มาของอัลบั้ม The Wall อัลบั้มที่เล่าเรื่องราวของ "Pink" ร็อคสตาร์ที่หมดไฟกับการสร้างสรรค์ผลงานดีๆ ตัดสินใจหันหลังให้กับความศิวิไลซ์ แล้วดิ่งจมเข้าหาความสันโดษเสมือนมีกำแพงปิดกั้น อีกทั้งยังถ่ายทอดความคิด มุมมองความขัดแย้งในสังคมออกมาเป็นดนตรีร็อคโอเปร่าที่ฟังแล้วรู้สึกสะเทือนใจในอารมณ์
ส่วนไอเดียที่ 2 กลายเป็นอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของ Roger Waters ในปี 1984 ที่ชื่อ "The Pros and Cons of Hitch Hiking”
ปัญหาหนี้สิน: อุปสรรคการทำงานของวง
โปรเจ็คนี้มาในช่วงที่วง Pink Floyd กลายเป็นหนึ่งในวงชั้นนำที่ใครๆก็พากันจับตามอง และช่วงเวลานั้นพวกเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบีบคั้นให้ปล่อยผลงานใหม่ออกมาเพื่อนำเม็ดเงินไหลเข้ามาต้นสังกัดให้เร็วที่สุด แม้ว่าที่ผ่านมาพวกเขาพวกเขาได้สร้างผลงานดีๆที่เป็นที่พูดถึงอย่างอัลบั้ม Wish You Were Here และอัลบั้ม The Dark Side Of The Moon ออกมาก็ตาม
Waters ย้อนเล่าความหลังที่วงต้องรับผิดชอบเงินภาษีจำนวนมหาศาลที่พวกเขาไม่ได้ก่อจากอัลบั้ม The Dark Side Of The Moon และพวกเขาจำเป็นต้องหาเงินมาใช้หนี้เหล่านั้นให้เร็วที่สุด ส่วน David Gilmour ก็หมดความอดทนและถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องมาคลุกคลีกับธุรกิจและการเงินของวงอย่างใกล้ชิด เพราะเขารู้ว่าไม่มีใครในต้นสังกัดที่ไว้ใจได้สักคน ตอนนี้ทุกบาททุกสตางค์ที่พวกเขาต้องใช้ไปในการทำอัลบั้มจะต้องผ่านความเห็นชอบของเขา ไม่ให้หลุดแม้แต่เพนนีเดียว
"Ever since then, there’s not a penny that I haven’t signed for. I sign every cheque and examine everything.” - David Gilmour
"ตั้งแต่นั้นมา ไม่มีแม้แต่เพนนีเดียวที่ไม่ผ่านผม ผมเซ็นเช็คทุกใบและตรวจสอบทุกอย่าง" - David Gilmour
อย่างไรก็ตามเพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลาย พวกเขาจำเป็นต้องย้ายหนีออกจากสหราชอาณาจักร Waters ย้ายไปอยู่สวิส Mason ย้ายไปฝรั่งเศส ส่วน Gilmour และ Richard Wright ย้ายไปยังเกาะกรีก พวกเขากลับมารวมตัวเพื่อทำงานอัลบั้มกันอีกครั้งที่ฝรั่งเศสในปี 1979
และที่นี่เองที่กลายเป็นสุสานฝังมิตรภาพระหว่าง Waters กับ Gilmour อย่างสิ้นเชิง ความสัมพันธ์ของทั้งสองสิ้นสุดลงจากภาวะตึงเครียดระหว่างการทำอัลบั้มชุดใหม่นี้ แม้ Bob Ezin โปรดิวเซอร์จะมาแก้ไขสถานการณ์ แต่ก็ไม่ทันท่วงที
Richard Wright ลาออกจากวง
แต่จะว่าไปแล้วคำแนะนำของ Bob Ezin ที่ให้ Wright มือคีย์บอร์ดทำงานเฉพาะตอนกลางคืนเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับคนอื่นๆยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงขึ้นไปอีก เพราะกลายเป็นทำให้ Gilmour อารมณ์เสียมากยิ่งขึ้นไปอีกที่ไม่ได้ทำงานแบบเผชิญหน้ากัน อาจเป็นเพราะ Wright อยู่ในช่วงที่หดหู่เพราะต้องแยกตัวออกห่างจากครอบครัวเป็นเวลานานจนกลายเป็นมีปัญหากับชีวิตคู่
ด้วยเหตุนี้ทางวงจึงตกลงกันว่าจะใช้เดือนสิงหาคมทั้งเดือนเป็นวันพักผ่อนของทุกคน แต่แล้วต้นสังกัดก็มาบีบให้พวกเขาต้องเร่งงานให้เสร็จ พวกเขาจึงต้องหั่นเวลา เหลือเวลาพักผ่อนจาก 30 วันเหลือเพียงแค่ 10 วัน มีแต่ Wright ที่ยังเครียดกับเรื่องนี้อยู่ จึงตัดสินใจลาออกจากวงอย่างเป็นทางการ และทำหน้าที่เป็นเพียงนักดนตรีรับจ้างที่มาช่วยเล่นคีย์บอร์ดระหว่างออกทัวร์โปรโมทอัลบั้ม The Wall ช่วงปี 1980-1981
ข่าวการลาออกนี้เก็บเป็นความลับ จนกระทั่งอัลบั้มสุดท้ายของ Pink Floyd ที่มี Roger Waters แต่กลับไม่มีชื่อของ Richard Wright แฟนเพลงและสื่อจึงตั้งคำถามการลาออกของเขา และในที่สุดทางวงก็ได้ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการในปีต่อจากนั้น..
คอนเสิร์ตของร้อนแต่ประทับใจคนดู
หลังจากปล่อยอัลบั้ม The Wall ออกมาในวันที่ 30 พฤศจิกายนปี 1979 พวกเขาก็วางแผนออกทัวร์คอนเสิร์ตเพื่อโปรโมทอัลบั้มชุดนี้ แต่ด้วยรูปแบบการแสดงสดที่ล้ำยุคตื่นตาตื่นใจ เกินมาตรฐานการแสดงสดในยุคนั้น ทำให้วง Pink Floyd ต้องใช้เงินมากกว่าที่วางแผนไว้ในตอนแรก เป็นค่าใช้จ่ายงานโครงสร้าง รวมงานผลิตประกอบและขนส่ง
พวกเขาก็เปิดการแสดงวันแรกที่ Los Angeles Memorial Sports Arenaในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ปี 1980 แต่ยังไม่ทันได้เริ่มแสดง พวกเขาจำเป็นต้องจ่ายค่ามัดจำทันที $1.5 ล้านเพื่อใช้สำหรับการขนย้าย ก่อสร้างและรื้อถอนโครงสร้างในทุกที่ที่พวกเขาไปแสดงตามโปรแกรมที่วางไว้
เนื่องจากเป็นรูปแบบการแสดงที่ไม่เคยทำมาก่อน ต้องทำขึ้นมาใหม่ทั้งหมด หลังจากจบทัวร์คอนเสิร์ต พวกเขาตกอยู่ในสภาพขาดทุนยับเยิน โดยมีหนี้สินตามมาถึง $400,000 แน่นอนว่าเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายมากสำหรับวง Pink Floyd ที่ต้องเล่นต้องแสดงทุกคืน แต่ผลที่ได้กลับเป็นหนี้เป็นสิน ยิ่งเล่นยิ่งขาดทุน Mason มือกลองย้อนเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
"ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การแสดง แต่อยู่ที่การก่อสร้างและรื้อถอนวนไปวนมาอย่างนั้นครั้งแล้วครั้งเล่า ต้องใช้คนจำนวนมากในการควบคุมระบบไฟส่องสว่าง/ควบคุมเวทีการแสดง และในการสร้างกำแพงยักษ์ ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์พิเศษทั้งหมดสำหรับในงานนี้ ไม่ใช่ว่าใครๆก็ทำได้ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จึงแพงจนน่าตกใจ แต่ก็คุ้มสำหรับการที่ได้ทำอะไรที่ยิ่งใหญ่อะไรแบบนี้ครั้งหนึ่งในชีวิต"
แม้ว่าพวกเขาจะขาดทุนจากการออกคอนเสิร์ตโปรโมทอัลบั้มชุดนี้ แต่จะว่าไปแล้วพวกเขาประสบความสำเร็จในภารกิจนี้แทน เนื่องจากอัลบั้ม The Wall ขายดีเกินคาด สามารถเคลียร์หนี้สินและทำให้พวกเขาหลุดจากสถานะล้มละลายได้สำเร็จ แต่งานนี้ทำให้พวกเขาเข็ดขยาดกับงานสร้างสรรค์ใหม่ๆพอสมควร
ความสำเร็จของอัลบั้ม The Wall เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ Roger Waters มากกว่าของวง Pink Floyd เพราะ Waters เป็นคนกำหนดทิศทางของเพลงและดนตรีเกือบทั้งหมด แม้ Gilmour จะมีเพลงที่ทำให้เขายังเป็นที่พูดถึงอยู่บ้างจากเพลง Hey You และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลง Comfortably Numb แต่แฟนเพลงก็รู้ดีว่าบทบาทและความสำคัญในงานชิ้นนี้ของทั้งคู่ไม่เท่าเทียมอีกต่อไป Nick Mason ได้แสดงความเห็นส่วนตัว เขาคิดว่า Waters ไม่ได้ให้ความสำคัญของ Gilmour อย่างเห็นได้ชัด
"Waters คิดว่าการแต่งเพลงคือทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนการร้องและการเล่นกีต้าร์เป็นเรื่องรองลงมา คงจะบอกเป็นนัยๆว่า เขาควรมีบทบาทสำคัญในวงมากกว่า Gilmour และถ้าเขาออกจากวงสักคน Pink Floyd ก็คงไปต่อไม่ได้....ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ Waters ทำผิดพลาด"
นั่นเป็นเหตุผลที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกันอีกต่อไป ความคิดนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแยกตัวของ 2 กำลังหลักในวง Pink Floyd ในเวลาต่อมา ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความคิดนี้ ทำให้ Waters กับ Gilmour ต้องอยู่คนละเส้นทาง เส้นทางที่ไม่มีทางมาบรรจบกันตลอดไปจวบจนปัจจุบัน
Waters ลาออกจากวงในปี 1985 หลังจากที่ทำอัลบั้มสุดท้ายของ Pink Floyd "The Final Cut" ซึ่งออกมาในปี 1983 อัลบั้มที่ไม่มี Richard Wright มือคีย์บอร์ดของวงเช่นกัน..
ขอบคุณเรื่องราวจาก Far Out Magazine
วี welove /19 January 2023 (ต้นฉบับ 22 July 21)
www.welovechannel.info
Comentarios