top of page
Cateม่วง.png
รูปภาพนักเขียนวี welove

"The Beatles" กว่าจะก้าวข้ามกำแพงเมืองลุงแซม (ตอนที่ 1)

อัปเดตเมื่อ 1 ก.พ.

รู้หรือไม่ว่า The Beatles พยายามเจาะตลาดอเมริกาตั้งแต่เริ่มดังใหม่ๆในอังกฤษช่วงต้นปี 1963 แต่ก็ไม่สามารถชนะใจค่ายยักษ์ใหญ่ในอเมริกาได้ ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหนก็ตาม เหมือนมีกำแพงเหล็กกั้นไว้ถึง 4 ชั้น มีอะไรบ้างนั้นแล้วจะเล่าให้ฟัง


วันประกาศชัยชนะเหนืออเมริกา

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 1964 (พ.ศ. 2507) เป็นวันที่แฟนเพลงของ The Beatles รอคอยกันมานานแสนนาน กว่าที่ The Beatles จะมีเพลงอันดับ 1 เพลงแรกในอเมริกากับเพลง “I Want To Hold Your Hand”


นับตั้งแต่วินาทีนั้น ดนตรี Rock and Roll จะไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไป เป็นการเข้าสู่ยุค "British Invasion"ในเวลาต่อมา และ 4 หนุ่มจากลิเวอร์พูลมีเพลงอันดับ 1 ไล่เรียงตามกันมาแบบไม่ขาดสาย สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆให้กับวงการเพลงครั้งแล้วครั้งเล่า


แต่ก่อนที่จะมีวันนี้ เส้นทางของ The Beatles สู่ตลาดอเมริกานั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบดอกกุหลาบ แต่เต็มไปด้วยขวากหนามตั้งแต่ต้นทางจนเกือบสุดปลายทาง เป็นอย่างไรนั้น ผมจะเล่าให้ฟัง......ซึ่งต้องเริ่มจากช่วงที่ The Beatles กำลังโด่งดังสุดขีดในอังกฤษก่อน นั่นคือช่วงปลายปี 1963 แต่ก่อนจะเริ่มเล่าเรื่องของ The Beatles ซึ่งเป็นผู้จุดพลุ "British Invasion"นั้น จริงๆแล้วมีวงจากอังกฤษที่มีซิงเกิ้ลขึ้นอันดับ 1 ในอเมริกาก่อน The Beatles คือวง "The Tornadoes"กับเพลง Telstar ในปี 1962



แต่ครั้งนั้นยังไม่สามารถปลุกกระแสดนตรีจากเกาะอังกฤษได้มากมาย เพลงที่เข้ามาพอถึงจุดหนึ่งก็จะเงียบหายไปตามกาลเวลา จน 2 ปีต่อมาทุกอย่างก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง กับการเข้ามาของ The Beatles




"Beatles" ระบาดในอังกฤษ

หลังจากอัลบั้มแรกของ The Beatles "Please Please Me" ออกมาได้ 8 เดือนในอังกฤษ พวกเขาก็เตรียมออกอัลบั้มชุดที่ 2 “With The Beatles” ในวันที่ 22 พฤศจิกายน ปี 1963 ซึ่งมียอดจองล่วงหน้า 250,000 ชุด นั่นหมายความว่า อัลบั้มขายดีโดยไม่ต้องอาศัยซิงเกิ้ลฮิตเป็นตัวนำร่องเหมือนอัลบั้มทั่วๆไป


และปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดกับอัลบั้มชุดนี้ คือเพลงในอัลบั้ม ฟังได้ทุกเพลง เหมือนมีซิงเกิ้ลหลายเพลงอยู่ในอัลบั้มเดียวกัน เพราะแนวเพลงฟังง่ายติดหู และเนื้อหาถูกใจวัยรุ่น อัลบั้ม "With The Beatles" จึงถูกเปิดฟังกันแทบทุกบ้าน ทั้งในเมืองและนอกเมือง ถ้าจะให้ผมเปรียบเทียบกับในเมืองไทย เปรียบได้กับอัลบั้ม " เมด อิน ไทยแลนด์ " สมัยนั้นไปที่ไหนก็จะได้ยินแต่เพลงในอัลบั้มชุดนี้ ฟังกันแบบยกอัลบั้ม เพราะฟังได้ทุกเพลง ปรากฏการณ์นี้จึงทำให้อัลบั้ม With The Beatles กลายเป็นอัลบั้มลำดับที่ 2 ในอังกฤษที่ขายได้เกิน 1 ล้านชุด ต่อจากอัลบั้มซาวด์แทร็ก “South Pacific” ในปี1958




ด้วยยอดขายขนาดนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่อัลบั้ม With The Beatles ครองอันดับ 1 นานถึง 21 สัปดาห์ ต่อเนื่องจากอัลบั้ม Please Please Me ที่ครองอันดับ 1 ก่อนหน้านี้นาน 30 สัปดาห์ รวมที่ The Beatles ครองอันดับ 1 บนอัลบั้มชาร์ตในอังกฤษนานถึง 51 สัปดาห์เลยทีเดียว (เกือบปี)


และทราบกันหรือไม่ว่า อัลบั้ม With The Beatles เคยติดอันดับที่ 11 บนซิงเกิ้ลชาร์ตในอังกฤษด้วย เพราะในยุคนั้นซิงเกิ้ลชาร์ตจะนับจากยอดขายเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นซิงเกิ้ลหรืออัลบั้ม แต่โอกาสที่อัลบั้มจะเข้ามาอยู่ในซิงเกิ้ลชาร์ตน้อยมาก เพราะคนจะนิยมซื้อซิงเกิ้ลมากกว่า


"I Want To Hold Your Hand" ใบเบิกทางหนทางสู่อเมริกา

หลังจากที่อัลบั้ม “With The Beatles” ออกมาได้เพียงสัปดาห์เดียว ซิงเกิ้ลเพลง “I Want To Hold Your Hand” (ไม่ได้อยู่ในอัลบั้ม With The Beatles) ก็ถูกปล่อยออกตามมา ด้วยยอดจองล่วงหน้าสูงถึง 1 ล้านชุด นี่ถ้าไม่ใช่เพราะซิงเกิ้ลขายดีอย่าง “She Loves You” ของตัวเองที่ครองอันดับ 1 อยู่ตอนนั้น เพลง I Want To Hold Your Hand คงขึ้นถึงอันดับ 1 ทันทีในสัปดาห์แรกแน่นอน



และหลังจากนั้น 2 อาทิตย์ เพลง I Want To Hold Your Hand ขึ้นถึงอันดับ 1 (อยู่นานถึง 5 สัปดาห์) โดยเบียดเพลงอันดับ 1 “She Loves You” ของตัวเองลง ซึ่งเป็นครั้งแรกของวงการเพลงอังกฤษที่เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้น (แต่ในอเมริกา เพลง She Loves You เป็นฝ่ายมาแทนที่อันดับ 1 เพลง I Want To Hold Your Hand)


แน่นอนว่าเพลง I Want To Hold Your hand คือหมากสุดท้ายที่ทำให้ George Martin กับ Brian Epstein ต้องลุกขึ้นมาสู้กับตลาดอเมริกาอีกครั้ง หลังจากต้องพลาดท่าไป 2 ครั้งกับซิงเกิ้ลแรก "Please Please Me" และซิงเกิ้ลที่ 2 "She Loves You" ที่พวกเขาเคยนำเสนอ Capitol Records ในเดือนกุมภาพันธ์ และสิงหาคม ปี 1963 ตามลำดับ แต่กลับได้รับคำปฏิเสธอย่างไม่ใยดี จนต้องปล่อยสิทธิ์จัดจำหน่ายให้กับบริษัทเล็กๆอย่าง Vee-Jay Records กับ Swan Records ตามลำดับ



อะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Capitol Records ไม่สนใจผลงานเพลงของ The Beatles ในอเมริกาในช่วงปี 1963 ซึ่งเป็นช่วงที่ The Beatles กำลังhotสุดๆในอังกฤษ ผมจะเล่าให้ฟัง..


กำแพงมีไว้ให้ข้าม

กำแพงเหล็กชั้นที่ 1

ณ.เวลานั้น อเมริกามอง The Beatles เหมือนวงอื่นๆที่มาจากเกาะอังกฤษ ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรมากมาย ถ้าเปรียบเป็นสินค้า ก็จะเป็นสินค้าคุณภาพด้อยกว่า สินค้าระดับนี้อเมริกาสามารถผลิต และทำการตลาดเองได้ไม่ต้องนำเข้า นั่นเป็นมุมมองที่ถูกฝังลึกมาค่อนศตวรรษ พวกเขาเชื่อมั่นว่า ดนตรีทุกแนวล้วนมาจากอเมริกา และครอบคลุมตลาดอังกฤษเสียเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีบ้างที่หลุดเข้ามาสร้างความนิยมในอเมริกา ดังเช่นเพลง Telstar ของ The Tornadoes เพราะความแปลกใหม่


กำแพงเหล็กชั้นที่ 2

อีกหนึ่งอุปสรรคที่ทำให้อเมริกาไม่ค่อยสนใจวัฒนธรรมจากอังกฤษ เพราะอเมริกามีตลาดเพลงที่กว้างและใหญ่มาก รวมถึงมีสถานีวิทยุครอบคลุมไปทั่วอเมริกาหลายพันแห่ง กล่าวคือมูลค่าตลาดในอเมริกาเมื่อเทียบกับอังกฤษแล้ว อังกฤษจะเหมือนต้นกล้าที่แคระแกร็น แล้วทำไมอเมริกาต้องมาสนใจต้นกล้าที่ไม่ยอมโตด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือช่วงที่ศิลปินดังที่สุดแห่งยุคของอังกฤษอย่าง Cliff Richard ออกทัวร์ในอเมริกาต้นยุค 60s นั้น ไม่ได้รับความสนใจอะไรมากมาย ทั้งฮอลล์มีคนมาชมเพียงครึ่งเดียว นี่เป็นกำแพงเหล็กชั้นที่ 2 ที่ George Martin และ Brian Epstein ต้องก้าวข้ามไปให้ได้



กำแพงเหล็กชั้นที่ 3

อย่าลืมว่าในช่วงเวลาที่ The Beatles กำลังดังในอังกฤษ ในอเมริกาก็มีวง The Beach Boys ที่กำลังโด่งดังเช่นกัน สามพี่น้องจากแคลิฟอร์เนีย Brian, Carl และ Dennis Wilson กับญาติอีกคน Mike Love


พวกเขาสร้างเพลงเน้นเสียงประสาน เพลงที่ชวนให้นึกถึงการเล่นกระดานโต้คลื่น การแข่งรถ ภาพของทรงผมทหารอเมริกัน เสน่ห์ของใบหน้าที่ตกกระ รวมถึงความรู้สึกรักชาติ ยิ่งช่วงเวลานั้นพวกเขามีประธานาธิบดีคนใหม่ที่หนุ่มแน่นอย่าง John F. Kennedy ด้วย นั่นทำให้กระแสความร้อนแรงจากเกาะอังกฤษอย่าง The Beatles แทบจะไม่ได้อยู่ในความสนใจของชาวอเมริกันเลย นี่ยิ่งเป็นโจทย์ยากที่ George กับ Brian ต้องข้ามผ่านไปให้ได้เช่นกัน.....



เป็นไงครับ อ่านแล้วก็เหนื่อยแทน นี่ผมยังไม่ได้พูดถึงกำแพงเหล็กชั้นที่ 4 (ชั้นสุดท้าย) เลยนะครับ คงต้องติดตามไปพร้อมกับ George Martin และ Brian Epstein ที่เข้าไปล็อบบี้ทางนายใหญ่ Capitol Records ถึง 2 ครั้ง แต่อเมริกาตั้งกำแพงสูงขนาดนั้น ดูสิว่าพวกเขาจะไปต่อได้ไหม อย่างไร สนุกแน่นอน ติดตามตอนที่ 2 ต่อได้จากกล่องตัวเลือกข้างล่าง


วี welove / 25 April 20


ติดตามทางเพจ Facebook

ติดตามทาง Line

ติดตามทางเว็บไซต์ welovechannel.info

0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page