top of page
Cateม่วง.png

ที่มาของเพลง ( I Can't Get No) Satisfaction เพลงแจ้งเกิดของ Rolling Stones

วันนี้ในปี 1965 ซิงเกิ้ลเพลง ( I Can't Get No) Satisfaction ของ The Rolling Stones ผงาดขึ้นอันดับ 1 บน Official Singles Chart ของอังกฤษ หลังจากเข้ามาแค่เพียง 3 สัปดาห์ และอยู่อันดับ 1 นาน 2 สัปดาห์


แต่ในอเมริกาเพลงนี้เป็นซิงเกิ้ลอันดับ 1 เพลงแรกของพวกเขา (10 July 1965) หลังจากที่มีซิงเกิ้ลปล่อยออกมาถึง 7 เพลง อยู่อันดับ 1 นานถึง 4 สัปดาห์ ทำให้วง The Rolling Stones แจ้งเกิดในอเมริกาและทั่วโลกได้สำเร็จ น่าสนใจแบบนี้แล้ว ไปดูว่าความเป็นมาของเพลงนี้เป็นมาอย่างไร บอกเลยว่าน่าสนใจไม่น้อย เชิญติดตามอ่านกันต่อเลยครับ


เพลงแจ้งเกิดของ The Rolling Stones
เพลงแจ้งเกิดของ The Rolling Stones


ที่มาและความหมายของชื่อเพลง ( I Can't Get No) Satisfaction

การทัวร์คอนเสิร์ตครั้งแรกของ The Rolling Stones ในอเมริกาเริ่มเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมปี 1965 ที่สนามกีฬาเคลียร์วอเตอร์ รัฐฟลอริด้า มีผู้เข้าชมประมาณ 3,000 คน ได้เกิดเหตุวุ่นวายระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชม 200 กว่าคนจึงทำให้ทางวงต้องยุติการแสดงหลังจากที่เล่นไปได้เพียงแค่ 4 เพลง


การทัวร์อเมริกาครั้งแรกของ The Rolling Stones
การทัวร์อเมริกาครั้งแรกของ The Rolling Stones ในปี 1965

หลังเหตุการณ์คืนนั้นริชาร์ด "Keith Richards" กลับเข้าโรงแรมที่พักเร็วกว่าที่ตั้งใจไว้ จึงทำให้เขานอนไม่หลับ นอนกระสับกระส่ายสาระวนอยู่กับคำว่า "Can't get no satisfaction" กับริฟฟ์กีต้าร์ที่วกวนเข้ามาในหัวตลอดคืน


ประโยค "Can't get no satisfaction" ริชาร์ดนำมาจากเนื้อเพลง Thirty Days ของ Chuck Berry ที่แต่งขึ้นเพื่อเชิดชูเพลงคันทรีของ Hank Williams ในปี 1955 โดยในเพลง Thirty Days มีท่อนหนึ่งเขียนไว้ว่า "If I don't get no satisfaction from the Judge" (คลิกฟังนาทีที่ 1.40)


สำหรับประโยคนี้ "I Can't Get No Satisfaction" เขียนผิดหลักแกรมม่า เพราะเป็นการปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ มันจึงมีความหมายว่า "I Can Get Satisfaction." (ฉันได้รับความพึงพอใจ)


จุดเริ่มต้น

ริฟฟ์กีต้าร์ที่รบกวนริชาร์ดตลอดคืนคล้ายกับริฟฟ์เพลง "Dancing in the Street" ของวง Martha & the Vandellas ทำให้เขารู้สึกกังวลไม่น้อย จึงลุกขึ้นจากเตียงแล้วเอาเครื่องบันทึกเทปบันทึก Riff กีต้าร์ท่อนนั้นทันที แล้วเขาก็เผลอหลับไป พอตื่นขึ้นมาตอนเช้า ริชาร์ดรีบนำเอาเทปมาเปิดฟัง ได้ยินเสียงเขาเล่นกีต้าร์โปร่ง 2 นาทีก่อนที่จะวางปิ๊ก ที่เหลืออีก 40 นาทีเป็นเสียงกรน (ริชาร์ดคงรอฟังจนหมดม้วน เผื่อว่าจะมีของดีโผล่ออกมา)


ฟังจากสิ่งที่ริชาร์ดเล่ามา เหมือนกับว่าเขาละเมอตื่นขึ้นมาเพื่ออัดแล้วก็หลับยาวโดยไม่รู้ตัว.... (จากข้อมูลหลายแหล่ง คีธ ริชาร์ดอาจจะให้ข้อมูลสถานที่ไม่ตรงกันบ้าง คงไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะชีวิตของพวกเขาอยู่กับการเดินทางและเสพยาตลอดเวลา คงเล่าเท่าที่จำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง)


การเขียนเพลงและบันทึกเสียง

ส่วนแจ็กเกอร์ "Mick Jagger" นักร้องนำปากกว้างของวงหินกลิ้ง รับหน้าที่เขียนเนื้อเพลง เขาเขียนในโรงแรมตรงริมสระว่ายน้ำ 4 วันก่อนจะเข้าห้องอัด เนื้อเพลงอ้างอิงจากประสบการณ์จริงช่วงที่ออนทัวร์อยู่ในอเมริกา เป็นเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่กำลังมองหาความจริง เพราะรอบด้านของเขาจะมีอยู่ 2 ด้าน ด้านหนึ่งจริง อีกด้านหนึ่งไม่จริง แจ็กเกอร์เขียนเนื้อเพลงทั้งหมดเว้นแต่คำว่า "Can't get no satisfaction" ซึ่งเป็นไอเดียของริชาร์ด


แจ็กเกอร์เล่าให้ฟังว่า ช่วงแรกๆที่เขากับริชาร์ดทำเพลงนี้กัน มันฟังคล้ายเพลงโฟล์คซึ่งริชาร์ดไม่ค่อยชอบใจ และคิดว่าไม่เหมาะจะมาทำเป็นซิงเกิ้ล เขาจึงแนะนำให้ริชาร์ดอย่าจมปลักอยู่กับเพลงนานไป ให้ถอยห่างออกมาบ้าง เผื่อจะได้มุมมองที่เปลี่ยนไป และก็เป็นผลเมื่อริชาร์ดคิดกลับ พลิกทำให้วงหินกลิ้งขึ้นสู่วงยอดนิยมนับตั้งแต่นั้นมา

Keith Richards กับ Mick Jagger ในห้องอัดเสียงในปี 1965
Keith Richards กับ Mick Jagger ในห้องอัดเสียง

หลังจากนั้นอีก 5 วันเพลงนี้ก็ถูกบันทึกเสร็จเรียบร้อยระหว่างการทัวร์อเมริกา ในวันที่ 11-12 พฤษภาคมปี 1965 ที่ RCA Studios, Los Angeles ตอนแรกริชาร์ดกับแจ็กเกอร์นำเสนอท่อนริฟให้ใช้เครื่องเป่า แต่สมาชิกวงคนอื่น (Jones, Watts และ Wyman) รวมถึง Andrew Loog Oldham ผู้จัดการวงอยากให้ริชาร์ดใช้กีต้าร์เหมือนเดิม


และบังเอิญในช่วงเวลานั้นริชาร์ดได้รับอุปกรณ์ "Gibson fuzzbox" จากทาง Gibson เขาจึงเอามาแต่งเติมเสียงกีต้าร์ให้แตกพร่าพอที่จะทดแทนเสียงเครื่องเป่าอย่างที่เขาตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก และมันก็ได้ผลดี ไม่ต้องบอกเลยว่าอุปกรณ์ตัวนี้ขายดิบขายดีแค่ไหน เพราะขายดีจนหมดเกลี้ยงสต็อกภายในสิ้นปีนั้น (1965)

Gibson Fuzzbox
Gibson Fuzzbox

ซิงเกิ้ลที่ขายในอเมริกา สมาชิกวงมีดังนี้ :-

Mick Jagger – lead and backing vocals

Keith Richards – electric guitar, backing vocals

Brian Jones – acoustic guitar

Bill Wyman – bass guitar

Charlie Watts – drums


ส่วน Jack Nitzsche มาช่วยโปรดิวซ์และเล่นเปียโนให้ในเพลงนี้ อีกทั้งยังเคาะแทมเบอรีนเพื่อให้ฟังดูเป็นโซลอย่างที่แจ็กเกอร์จินตนาการไว้ เขาเคยช่วยงานเพลงอีกหลายๆเพลงในยุคแรกของวงสโตนส์อย่างเช่นเพลง "Get Off My Cloud" และ "Paint It, Black" เป็นต้น



ความนิยมในอังกฤษและอเมริกา

ซิงเกิ้ล (I Can't Get No) Satisfaction ออกวางจำหน่ายในอเมริกาในวันที่ 5 มิถุนายนปี 1965 ในระบบโมโน และกว่าจะได้ฟังเป็นระบบสเตอริโอก็ต้องรอจนกลางยุค 80s โดยออกมาเป็นแผ่นซีดีจากอัลบั้มรวมเพลง Hot Rocks 1964–1971ในเยอรมันและญี่ปุ่น



แต่ในอังกฤษ..พวกเขาต้องรอกลับถึงอังกฤษก่อน ถึงค่อยปล่อยซิงเกิ้ลตามออกมาในวันที่ 20 สิงหาคมปีเดียวกัน เพื่อเตรียมออกทัวร์โปรโมทซิงเกิ้ล แต่เมื่อปล่อยออกมากลับถูกแบนจากสถานีวิทยุหลายแห่ง เนื่องจากเนื้อหาส่อชี้นำทางเพศมากเกินไป อย่างไรก็ตามก็ไม่สามารถต้านทานความนิยมไว้ได้ เพลงขึ้นถึงอันดับ 1 ในที่สุด....และกลายเป็นเพลงอันดับ 1 ลำดับที่ 4 ของวง The Rolling Stones ในอังกฤษ


เพลงนี้ทำให้วง Rolling Stones โด่งดังทะลุฟ้าจากวงธรรมดาๆมาเป็นวงร็อคระดับแนวหน้า และขึ้นถึงอันดับ 1 ทั้งในอเมริกาและอังกฤษ


มิคแจ็กเกอร์บอกว่า ทุกวงล้วนพยายามสรรหาเพลงที่จะทำให้พวกเขาแจ้งเกิดให้ได้ และสำหรับวง Rolling Stones ก็คือเพลง "( I Can't Get No) Satisfaction"


"It was the song that really made The Rolling Stones, changed us from just another band into a huge, monster band. You always need one song." - Mick Jagger
"เป็นเพลงที่ทำให้วงโรลลิ่งสโตน เปลี่ยนจากวงธรรมดากลายเป็นวงมหาอภิยิ่งใหญ่ ขอแค่เพลงเดียวจริงๆ" - Mick Jagger


วี welove / 9 September 2021 (updated 2023)


ติดตามทางไลน์ คลิกปุ่ม"เพิ่มเพื่อน"(ด้านบน)

ติดตามทางเพจ Facebook

ติดตามทาง Line

ติดตามทางเว็บไซต์ welovechannel.info

1 ความคิดเห็น
bottom of page