Sanook 18 ส.ค. 2560
- เมื่อเพลงไทยมีความเป็นสากล -
นับกันจริงๆ บ้านเรามีการจัดการเรื่องลิขสิทธิ์เพลงสากลมาไม่น่าจะเกิน 35 ปี ไล่ๆ กับเทปลิขสิทธิ์ที่มาแทนที่เทปผีที่มีอยู่เกลื่อนตลาดในอดีต
ก่อนหน้านั้นไม่ทราบว่าคนฟังเพลงสากลในบ้านเราให้ความสำคัญกับเรื่องลิขสิทธิ์มากน้อยเพียงใด แต่เท่าที่เติบโตมากับยุคก่อนลิขสิทธิ์ ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเราไม่ได้สนใจเรื่องลิขสิทธิ์ เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวที่ไม่จำเป็นต้องไปกังวลให้มากความ แค่ฟังเพลงสากลอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว
ตั้งแต่เพลงสากลเข้ามาเผยแพร่ในบ้านเรา เมืองนอกได้ฟังอะไร เราก็ได้ฟังเหมือนเขาทุกอย่าง อาจจะช้ากว่านิดหน่อย มันคือวัฒนธรรมจากฝั่งตะวันตกอย่างหนึ่งที่ประเทศทางฝั่งตะวันออกอย่างเราอ้าแขนต้อนรับด้วยความยินดีปรีดา ไม่ใช่แค่เพลงสากล แม้แต่แฟชั่น เครื่องเสียง อาหารการกิน ล้วนได้อิทธิพลมาจากตะวันตกแทบทั้งนั้น
วงสุนทราภรณ์ เป็นศิลปินไทยวงแรกๆ ที่นำเอารูปแบบดนตรีสากลมาใช้ในเพลงของตนเอง
ทำให้เพลงไทยที่สุนทราภรณ์ร้องและบรรเลงมีความเป็นสากลอยู่เต็มเปี่ยม ยิ่งร้องเป็นภาษาไทยที่มีสัมผัสทางภาษางดงาม ยิ่งเพิ่มเสน่ห์ให้กับเพลงเข้าไปใหญ่ เพลงไทยสากลจึงเป็นที่นิยมมากในช่วง 50-60 ปีก่อน มาถึงยุคนักร้องขวัญใจวัยรุ่นในช่วงปลายยุค 50s ย่างเข้า 60s อย่าง เอลวิส เพรสลีย์, คลิฟ ริชาร์ด ยิ่งทำให้ตลาดเพลงสากลบ้านเราตื่นตาอย่างมาก และต้องมีวงไทยที่เล่นคัฟเวอร์เพลงของศิลปินดังจากฝั่งตะวันตกอยู่แล้ว
- ก่อนจะกลายเป็นเพลงก๊อป -
สมัยก่อนที่เพลงสากลเริ่มแพร่หลายในไทย คนฟังเพลงมักจะนำเพลงสากลมาร้องในแบบของตัวเอง โดยใส่เนื้อในเข้าไปแทน แต่เริ่มร้องเพลงไทยทำนองสากลตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่อาจค้นคว้าหาหลักฐานได้จริงๆ ครับ แต่เชื่อว่ามีมาไม่ต่ำกว่า 60 ปี สมัยผมยังเด็กก็ได้ยินผู้ใหญ่ร้องเพลง "Sukiyaki" (上を向いて歩こうขับร้องโดย คิว ซาคาโมโตะ 坂本 九) เป็นเนื้อไทย (หัวใจร้องไห้ (พ.ศ. 2508) คำร้อง สมโภชน์ ล้ำพงศ์ ทำนอง SUKIYAKI (เพลงญี่ปุ่น) สุเทพ วงศ์กำแหง ขับร้อง)
บางคนก็ร้องแบบทะลึ่งตึงตัง บ้างก็เน้นความสวยงามของภาษาไทยที่มีสัมผัสน่าฟัง หรือ มีศักดิ์ นาครัตน์ จากคณะสามศักดิ์ ร้องเพลง "แดดออก" โดยนำเพลง Day-O ของ แฮร์รี เบลาฟอนเต มาใส่เนื้อไทยทั้งเพลง (มีศักดิ์ ทนงศักดิ์ สักรินทร์ อรสา "แดดออก" "ผู้ใหญ่ลี")
เหล่านี้เป็นตัวอย่างว่าสมัยนั้น เราไม่ได้ยึดติดว่าลอกเพลงสากลเป็นสิ่งผิดกฎหมาย (แต่ในต่างประเทศผิดแน่นอน) เป็นการร้องสนุกๆ ให้คนฟังชื่นชอบด้วยการนำเพลงที่กำลังได้รับความนิยมมาใช้ คนฟังจะร้องตามได้ง่ายและติดหูด้วย ที่สำคัญ ไม่มีใครถือสาว่าทำผิด ละเมิดสิทธิ์ เพราะเพลงสากลยังเป็นเรื่องไกลตัว ดีเจยังต้องหาซื้อแผ่นเสียงมาเปิดเองด้วยซ้ำไป ไม่มีตัวแทนจำหน่ายแผ่นเสียงอย่างเป็นทางการ ไม่มีองค์กรดูแลลิขสิทธ์ทางดนตรีอย่างทุกวันนี้
- เริ่มยุคก๊อปเป็นประเพณี -
เวลาผ่านไป การลอกเพลงสากลมาใส่เนื้อไทยยังคงดำเนินต่อไป ไม่มีใครมองว่าผิด ไม่มีใครเรียกร้องความถูกต้อง เพราะวัฒนธรรมทางดนตรีในบ้านเราเป็นอย่างนี้กันเอง อยากร้องก็ร้อง อยากลอกก็ลอก ดีเสียอีก ไม่ต้องร้องภาษาอังกฤษ ภาษาไทยร้องคล่องปาก เข้าใจง่ายอีกด้วย ตั้งแต่ยุค 60s ถึง 70s (ค.ศ. 2503 - 2521) จึงมีเพลงไทย เนื้อไทย ทำนองฝรั่งให้ฟังมากมายมหาศาล นับแต่ลอกเป็นบางท่อน จนถึงลอกทั้งเพลง แล้วแต่ว่าใครจะใช้เพลงฮิตมาก หรือไม่ค่อยฮิต ย่างเข้ายุค 70s เพลงสากลถูกก๊อปแทบจะทุกสไตล์ และเน้นเพลงที่คนไทยรู้จักดี อาทิ เพลง "ขึ้นๆ ลงๆ" ของ สรวง สันติ อินโทรนำมาจากเพลง "Iron Man" ของ Black Sabbath ก็เป็นที่ฮือฮาในยุคนั้น (Sroeng Santi - ขึ้นๆลงๆ)
เพลง "ชื่นรัก" ของ The Impossible ก็คือเพลง "Scarborough Fair" ของ Simon and Garfunkel (ชื่นรัก ดิอิมพอสซิเบิ้ล ชุด 1 ชื่นรัก เริงรถไฟ)
แม้จะลอกกันอย่างเอิกเกริก แต่ก็ไม่มีใครรู้สึกว่าละเมิดสิทธิ์ หรือทำน่าเกลียดแต่อย่างใด หลายคนกลับชอบที่ได้ฟังเพลงสากลที่โปรดปรานโดยที่มีคนร้องเป็นภาษาไทย
- ยุครุ่งเรืองของเพลงก๊อปและเพลงแปลง -
ล่วงเข้าช่วงกลางยุค 70s ดนตรีดิสโกและฟังกี้เริ่มแพร่หลาย อีกทั้งมีวงไทยเล่นตามผับและไนต์คลับเพิ่มขึ้น เพลงที่มีเครื่องเป่าเพิ่มขึ้น วงไทยที่ยังไม่มีโอกาสเซ็นสัญญาออกผลงานกับค่ายเพลงจึงเล่นเพลงสากลโดยเล่นคัฟเวอร์เป็นหลัก ขณะเดียวกัน บรรดาเพลงสากลที่ฮิตมากๆ ก็ถูกนำมาเล่นคัฟเวอร์ชนิดที่ไม่ได้ลอกแต่ทำนองเพลง แต่ลอกเนื้อเพลงมาแปลกันเลยทีเดียว แม้จะแปลไม่ตรงกับต้นฉบับทั้งเพลงก็ตาม เช่น เพลง "เก้าล้านหยดน้ำตา" ของ ดอน สอนระเบียบ
ที่นำเพลง "9,999,999 Tears" ของ ดิกกี ลี มาร้อง เพลง "ไม่รักแกล้งหลอก" นำเพลง "Lighting Bar Blues" ของ Brownville Station หรือ เศรษฐา ศิระฉายา นำเพลง "Don't Go Breaking My Heart" ของ เอลตัน จอห์น มาร้องเป็นเพลง "มองอะไรตามชายหาด" หรือเพลง "My First Time" ของ Lobo ที่กลายเป็นเพลง "งัวหาย" ของเขาด้วย (งัวหาย - เศรษฐา ศิระฉายา)
วงการเพลงจึงเรียกเพลงประเภทนี้ว่า เพลงแปลง นี่ยังไม่นับวงสมัครเล่นที่รับจ๊อบตามงานเล็กๆ ที่เล่นคัฟเวอร์เพลงเหล่านี้อีกนับไม่ถ้วน บางวงก็เล่นเป็นเพลงแปลง บางวงก็เล่นคัฟเวอร์เหมือนต้นฉบับทั้งเพลง ถ้ามีโอกาสเข้าวงการ จากเพลงคัฟเวอร์ก็อาจเปลี่ยนเป็นเพลงก๊อปได้
เพลงก๊อปซาไปบ้างในช่วงดิสโกรุ่งเรืองสุดขีดราวปี 2518-2523 เพราะวงส่วนใหญ่เน้นเล่นคัฟเวอร์เป็นหลัก จวบจนเข้าสู่ยุค 80s ที่อุตสาหกรรมเพลงพัฒนาไปอีกระดับ นักร้องนักดนตรีแต่งเพลงเองมากขึ้น ขณะเดียวกัน นักร้องนักดนตรีจากยุค 70s บางคนผันตัวเองมาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนักร้องในยุคนั้น จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำเพลงสากลที่ตนเองชอบมาทำเป็นเพลงเนื้อไทยให้นักร้องในสังกัดในการดูแลของตนเองได้นำไปขับร้อง หนักเข้าก็เอามาทั้งเพลง แล้วเปลี่ยนเนื้อเพลงเป็นไทยเท่านั้นเอง แล้วเพลงไทยก็เข้าสู่กระแสก๊อปสากลอีกวาระ
- ยุคก๊อปอย่างมีศิลป์และเนียน -
ผมคงฟันธงไม่ได้ว่าทุกวงดนตรีในบ้านเราในยุคสมัยนั้นก๊อปสากลกันทุกวงทุกคน เพราะผมไม่มีโอกาสได้ฟังครบทุกราย แต่รายที่ฟังในยุคนั้นก็พบว่าก๊อปกันอย่างแพร่หลาย ก๊อปจนเป็นเรื่องปกติ ยิ่งในยุค 80s ก้าวสู่ยุคค่ายเพลงไทยยักษ์ใหญ่แข่งขันกันด้วยแล้ว เพลงไทยยังเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งทำเร่งผลิต แข่งกับเวลา ต่างประเทศมีใครดัง ไทยต้องมีศิลปินแบบนั้นด้วย มันจึงเป็นยุคที่ก๊อปทั้งภาพลักษณ์ เพลง กระทั่งมิวสิก วิดีโอ แม้ความสามารถของนักดนตรีไทยจะพัฒนาขึ้น เทคโนโลยีการบันทึกเสียงที่ก้าวหน้า และกลุ่มคนฟังที่พัฒนาไปตามกระแสดนตรี แต่เพลงก๊อปกลับยิ่งแพร่หลายหนัก ดังที่เราจะเห็นได้จากคนฟังเพลงสากลเป็นหลักมักจะนำเพลงสากลต้นฉบับมาแพร่ แล้วโจมตีนักร้องไทยที่ก๊อปเพลงเหล่านั้นมา และจุดนี้ก็น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้คนฟังเพลงบ้านเราหยุดฟังเพลงไทย หันไปฟังเพลงสากลแทนกันเป็นหลักด้วย
- คนฟังเริ่มรู้ทันและจับผิดเพลงก๊อปได้มากขึ้น -
ยุค 80s ช่วงปีพ.ศ.2523 เป็นต้นมา เพลงไทยจึงก๊อปสากลจนเป็นประเพณี หรือเรียกว่าวงไทยวงไหน ค่ายไหนไม่ก๊อปสากล ค่ายนั้นเชย มีทีมแต่งเพลงระดับหัวแถวก็ใช่ว่าจะไม่ก๊อป (สมปองน้องสมชาย เรวัต พุทธินันทน์ ปี2529)
แต่เริ่มก๊อปอย่างมีเทคนิค บางเพลงก็เอามาเฉพาะท่อนที่ต้องการ แล้วนำมาผสมกับท่อนอื่นๆ ที่เอามาจากเพลงอื่นอีกที แล้วก็มีวลีฮิตเกิดขึ้น “โน้ตเพลงมี 7 ตัว ยังไงก็ต้องมีซ้ำกันบ้าง” ซึ่งเป็นข้ออ้างเลี่ยงบาลีกันมาตลอด ขณะเดียวกันทำให้ต้องก๊อปแบบใช้สมองมากขึ้น ไม่ก๊อปมาตรงๆทั้งหมด บางครั้งบิดโน่นนิด เติมนี่หน่อย ไม่ให้เหมือนต้นฉบับเป๊ะๆ แต่ก็ไม่อาจหลอกคนฟังเพลงกลุ่มที่ฟังเพลงสากลเป็นหลักได้ จึงเกิดเหตุประจานเพลงก๊อปกันขึ้น ใช่บ้าง ไม่ใช่บ้างก็แล้วแต่ว่าหูใครจะยอมรับได้ขนาดไหน ส่วนที่จำนนต่อหลักฐานก็มาก เมื่อมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องลิขสิทธิ์เพลงสากล เรื่องก๊อปเพลงก็ดูจะน้อยลง และเนียนมากขึ้นด้วย
- ปัจจุบันก็ยังก๊อปอยู่ -
เดี๋ยวนี้ค่ายเพลงไทยจ้างทีมงานแต่งเพลงอาชีพเพื่อแต่งเพลงป้อนประจำ เรื่องก๊อปเพลงยังไม่ใช่ความรับผิดชอบโดยตรงของค่ายเพลงอีกต่อไป เป็นเรื่องของทีมแต่งเพลง ซึ่งถ้าค่ายเพลงจับได้ ก็ต้องไปทำใหม่ แต่ถ้าจับไม่ได้ล่ะ? เพลงก๊อปก็ยังคงหลั่งไหลสู่ตลาดเพลงต่อไปใช่ไหม? แต่อย่างที่กล่าวไว้ครับ การก๊อปพัฒนาไปแยะ ไม่ก๊อปเป๊ะๆ เอามาเฉพาะบางท่อน แล้วปรับแต่งนิดหน่อย (เพลง ไม่ต้องฝืน vs WISH YOU WERE HERE)
ถ้าไม่ใช่คนที่ฟังเพลงสากลเป็นหลัก โอกาสที่จะจับได้มีน้อย บางทีมถึงขนาดหนีไปเอาเพลงจีน เพลงญี่ปุ่น หรือเพลงที่ไม่ได้รับความนิยมมาก๊อป โอกาสถูกจับได้ก็น้อยลง การประหยัดเวลาแต่งเพลง และทำเพลงที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจึงต้องพึ่งเพลงก๊อปอยู่ดี เพลงแต่งเอง นอกจากเสียเวลาแล้ว โอกาสถูกปฏิเสธจากค่ายเพลงก็มีสูง สู้ก๊อปเพลงสากลไม่ได้ ง่ายและเป็นที่ยอมรับได้รวดเร็วกว่า
ในวงการดนตรีนั้น หากนำมาเพลงของศิลปินรายไหนมาเล่น จำเป็นต้องขออนุญาตก่อน ไม่จากต้นสังกัดที่ถือสิทธิ์อยู่ ก็ต้องขอจากตัวศิลปิน อีกทั้งต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ด้วยครับ เดี๋ยวนี้ค่ายเพลงจ่ายค่าลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายกับเพลงใหม่หรือเพลงที่นำมาร้องคัฟเวอร์ในการแสดงบนเวที แต่กับเพลงเก่า กับแคตาล็อกที่ตนเองทำมากว่า 30 ปี คงต้องปล่อยเลยตามเลย ปล่อยให้คนฟังเพลงจับผิดและนำมาตีแผ่ต่อไป
10 เพลงสากลที่ฟังแล้วรู้เลยว่ากลายเป็นเพลงไทยไปแล้ว
ถ้าชอบบทความแนวนี้ กดให้หัวใจ เพื่อจะได้สรรหามาให้อ่านบ่อยขึ้น ขอบคุณครับ
สนับสนุนBlog ให้คลิกปุ่ม"เพิ่มเพื่อน"ด้านบน เข้าถึงBlog ผ่านเมนูในไลน์ ฟรี)
โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ / 18 August 2017
Comentarios